วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ประชุมเชิงปฏิบัติการเฝ้าระวังมลพิษทางทะเลของฝั่งอันดามัน

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 นายจงรัก ทรงรัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเฝ้าระวังมลพิษทางทะเลของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้แก่เจ้าหน้าที่จาก 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ ระนอง พังงา และตรัง จำนวน 50 คน ณ.โรงแรมกระบี่มาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อ.เมือง จ.กระบี่ โดยมีนายทศพร โชติช่วง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กล่าวรายงาน

นายจงรัก ทรงรัตนพันธุ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า การจัดโครงการนี้เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูความสะอาด ชายหาดและแหล่งน้ำทะเลบริเวณชายหาดแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ ระนอง พังงาและตรัง โดยการสร้างองค์กร/เครือข่าย ของชุมชนในการเฝ้าระวังรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดแหล่งท่องเที่ยว และมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและภาคประชาชน ร่วมกันตรวจสอบคุณภาพชายหาด ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างไร การใช้เทคโนโลยีแบบง่ายในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการแก้ไขปัญหาขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง และการสร้างจิตสำนึกและจัดสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

นายจงรัก ทรงรัตนพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จังหวัดในกลุ่มอันดามันมีชายหาดที่สวยงาม แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก ชายหาดแหล่งท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน เมื่อถึงช่วงฤดูมรสุม ขยะที่อยู่ในทะเลและชายหาดอื่น ๆ จะถูกพัดพาโดยคลื่นลมเข้าสู่บริเวณชายหาดท่องเที่ยวและบางส่วนจมอยู่ในทะเล กลุ่มผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวต้องการให้มีการจัดเก็บเป็นการปรับทัศนียภาพของชายหาดให้สวยงามเพื่อรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด การดำเนินการจัดการต้องอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ประกอบการด้วย กระบวนการการดำเนินการเน้นในเรื่องการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นชายหาดตะกอนน้ำมันที่ตกค้าง ดำน้ำเก็บขยะในแหล่งปะการัง อนุรักษ์พันธุ์หญ้าทะเลและปะการัง รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนและหลังการดำเนินการ การประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งการใช้จุลินทรีย์ช่วยในการบำบัดคุณภาพน้ำ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 – 2552 ได้ดำเนินการตามโครงการประเมินคุณภาพดัชนีชายหาด ซึ่งเน้นการตรวจสอบที่ปลายเหตุ แต่ไม่มีการดำเนินการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรภาคประชาชน ผู้ประกอบการ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งเครือข่ายในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยบูรณาการ การดำเนินการทั้ง 5 จังหวัดกลุ่มอันดามัน ในปี พ.ศ. 2554ซึ่ง หากไม่เร่งดำเนินการปัญหาการสะสมของขยะทำให้ทัศนียภาพและคุณภาพน้ำทะเลในแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมลง และจำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโดยบูรณาการการดำเนินการของส่วนราชการ ภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินการสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามัน ในการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพต่อไป

ข้อมูลจาก...ปชส.กระบี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป