วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กระบี่เปิดอมรมหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบชายแดนใต้

วันที่ 30 ก.ค.53 นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “หลักเกณฑ์และแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ โรงแรมกระบี่มาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อ.เมือง จ.กระบี่ โดยมีนายอำนวย โชติสกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ กล่าวรายงาน มีผู้ปฏิบัติงานจากจังหวัดชายได้เข้ารับการอบรม จำนวน 156 คน

นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้พิจารณาอย่างเป็นระบบทั้งหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนทุกด้าน รวมทั้งสำรวจความต้องการการช่วยเหลือเยียวยาการจัดทำฐานข้อมูล และการเป็นศูนย์ข้อมูลกลางของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณา กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้ได้ผลเป็นรูปธรรมอย่างถูกต้องครบถ้วน ตลอดจนการอำนวยการ กำกับ ดูแล และเร่งรัดการปฏิบัติของส่วนราชการและองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ และ กยต.ได้เห็นชอบให้มีการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาประจำจังหวัด อำเภอ และที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจ้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับ กยต.ผลการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 ได้เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างของศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯ จังหวัด/อำเภอ โดยให้จัดหาบุคลากรและเจ้าหน้าทีประจำศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯ อำเภอทุกอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี)

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กยต.ได้จัดการอบรมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรม ซึ่งมีบุคลากรจัดจ้างใหม่เพื่อปฏิบัติงานในระดับอำเภอ/จังหวัด มีความรู้ ความเข้าใจ เบื้องต้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

รวมทั้งวิธีปฏิบัติต่างๆ ในการจัดทำเอกสาร การจัดเก็บข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบในระดับพื้นที่ และการปฏิบัติตัวที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ในสถานที่และสถานการณ์ที่เสี่ยงต่ออันตรายในพื้นที่ และต้องทำงานร่วมกันกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบฯ รวมทั้งเพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด และการมีส่วนร่วม การระดมความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานเดิมที่ประจำอยู่ที่ศูนย์เยียวยาจังหวัด เพื่อที่จะทำให้การให้ความช่วยเหลือเยียยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมอบรม รายงานที่เกี่ยวข้องไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในการช่วยเหลือเยียยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

ขอบคุณ...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป