วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระบี่เตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน หวั่นท่องเที่ยวและภาคเกษตรมีผลกระทบ

กระบี่เตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน หวั่นท่องเที่ยว เกษตรอุตสาหกรรม มีผลกระทบ
      
       วันที่ 29 ก.ค.54 ที่โรงแรมกระบี่มาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้แก่ภาคราชการและภาคเอกชนจังหวัดกระบี่ ในหัวข้อ กระบี่ การก้าวสู่ประชาคมอาเซี่ยนโดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา (องค์กรมหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นายฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล ประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการและรองประธานคณะกรรมการAEC Prompt นางสาวเก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นางสาวจณัญญา บัณฑุกุล ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมเสวนาประมาณ 200 คน
      
       นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 ซึ่งการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ โดยมุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ มุ่งที่จะจัดตั้งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียว และเป็นฐานการผลิตของโลก
      
       สำหรับจังหวัดกระบี่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาจังหวัดในด้านต่างๆโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และด้านเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้จังหวัดกระบี่สามารถจัดทำแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิผล และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม ของจังหวัดกระบี่โดยรวม
      
       สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากการดำเนินการไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ได้บรรลุเป้าหมายในปี 2546 ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ได้เห็นชอบให้อาเซียนกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEANEconomic Community: AEC) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European EconomicCommunity: EEC) และให้อาเซียนปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
      
       ในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2546 ผู้นำอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ Bali Concord II เห็นชอบให้มีการรวมตัวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ภายในปี 2563 และให้เร่งรัด การรวมกลุ่มเพื่อเปิดเสรีสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา (priority sectors) ได้แก่ การท่องเที่ยว การบิน ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร ประมง เทคโนโลยีสารสนเทศและสุขภาพ โดยมีเป้าหมายรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยมีแนวคิดว่าอาเซียนจะกลายเป็นเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว หรือ Single market and production base นั่นหมายถึงจะต้องมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี สามารถดำเนินกระบวนการผลิตที่ไหนก็ได้ โดยสามารถใช้ทรัพยากรจากแต่ละประเทศ ทั้งวัตถุดิบและแรงงานมาร่วมในการผลิต มีมาตรฐานสินค้า กฎเกณฑ์กฎระเบียบเดียวกัน
ข้อมูลจาก....ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป