วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผู้ว่าฯกระบี่ สั่งอุตสาหกรรมส่งหนังสือแจ้งให้กระทรวงทบทวนการระเบิดหินเขาหน้าวังหมี



นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า การระเบิดเขาหน้าวังหมี ตนได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้เรียกหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกระบี่ วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ และประสานไปทางสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต เพื่อประชุมหารือถึงการพบวัตถุโบราณในพื้นที่หมู่ที่ 2 และ 3 ต.ทับปริก อ.เมืองกระบี่ และการสัมปทานบัตรระเบิดหินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างมาก เนื่องจากวัตถุโบราณที่ค้นพบมีอายุหลายพันปี และพื้นที่ยังทับซ้อนกับการระเบิดหิน ซึ่งอาจเป็นการทำลายสภาพพื้นที่ด้วย โดยมี ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี สำนักศิลปกรที่ 15 ภูเก็ต เดินทางมาร่วมหารือ

ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า หลังรับทราบการยืนยัน และทราบว่า มีการแจ้งจากกรมศิลปกร ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ก็ได้ให้ศูนย์ดำรงธรรมและอุตสาหกรรมจังหวัด ทำหนังสือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแจ้งให้ทราบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่แหล่งโบราณวัตถุ โบราณสถาน ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ โดยเฉพาะการยกเลิกสัมปทาน หรือวิธีการดำเนินการใดๆ กับเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้สอบถามหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถึงประเด็นที่เกิดขึ้น ซึ่งทางส่วนราชการต่างๆ แจ้งว่า ต้องการให้ทางกรมศิลปากรยืนยันความเป็นแหล่งโบราณคดี โดยการให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่ดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และขณะนี้อยู่ในช่วงการฟ้องร้องเรื่องอยู่ในชั้นศาล ซึ่งควรรอการตัดสินจากศาลปกครองด้วย ขณะเดียวกัน ทาง ร.อ.บุญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ได้แจ้งให้ที่ประชุม และทางผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ทราบว่า ที่ผ่านมา ได้มีการยืนยันจากกรมศิลปากรชัดเจนแล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียงนั้นเป็นแหล่งโบราณ ซึ่งมีการสำรวจขุดค้นมา และทางกรมศิลปากรก็ได้แจ้งความเอาผิดกับบริษัทที่สัมปทานระเบิดหินไปแล้วด้วย

ร.อ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า การระเบิดหินเขาหน้าวังหมี อาจจะถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 32 แก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 กำหนดไว้แล้ว แต่ที่ไม่ประกาศขึ้นทะเบียนเพราะเป็นแค่ความแตกต่างเรื่องของโทษ และการดูแลรักษาเท่านั้น แต่เมื่อมาขุดค้นพบ และยืนยันจากกรมศิลปากรว่าเป็นแหล่งโบราณก็จะต้องมีการคุ้มครองตามกฎหมาย แม้ว่าผู้ได้สัมปทานจะได้มาก่อน แต่เมื่อมีการพบเจอวัตถุโบราณและมีการยืนยันก็ต้องยุติการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่

.อ.บุญฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการพิจารณาของจังหวัดโดยเฉพาะทางผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เกี่ยวกับกรณีของเขาหน้าวังหมี ซึ่งถือเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่ง เพราะมีการขุดค้นพบวัตถุโบราณ เช่น หม้อสามขา หม้อลายเชือกทาบ รวมทั้งเครื่องใช้อื่นๆ ซึ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของมนุษย์โบราณยุค 3-6 พันปี และเชื่อมโยงไปยังการค้นพบในตำบลเดียวกันเกี่ยวกับโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุ หลายพันปีด้วย

สำหรับการให้สัมปทานระเบิดหินของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เริ่มมีดำเนินการขอประทานบัตรเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ตามคำขอเลขที่ 40/2538 โดย นายชัยวัล อัศวศิริสุข ต่อมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งหินเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ซึ่งเป็นการประกาศแหล่งหินหลังจากมีการขอสัมปทานบัตร ทำให้กลายเป็นประเด็นถกเถียง ต่อมาทางกรมศิลปากรได้มีหนังสือแจ้งต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และแจ้งไปยังทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งโบราณคดีจะต้องมีการอนุรักษ์ไว้และรอการขึ้นทะเบียนตามหนังสือที่ ศธ 0719.19/423 ลงวันที่ 9 เมษายน 2539 แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในขณะนั้น

ต่อมาได้มีการพิจารณาตามขั้นตอน จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้น ได้อนุญาตให้ประทานบัตรแก่ผู้ขอ ตามประทานบัตรระเบิดหินเลขที่ 23905/15645 ให้ดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2547 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 รวมระยะเวลา 10 ปี และต่อมานายชัยวัล ได้ให้ บริษัท นายเหมือง จำกัด รับช่วงดำเนินการต่อ และอนุญาตให้เปิดเหมืองวันที่ 9 กรกฎาคม 2551

อย่างไรก็ตาม หลังการอนุญาตให้มีการเปิดเหมือง ปรากฏว่า มีการคัดค้านอย่างต่อเนื่องในหลายประเด็น ตั้งแต่การให้สัมปทานที่บริษัทดังกล่าวอ้างว่าอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 7 ต.ทับปริก แต่ทางผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.ทับปริก คือ นายบุญฤกษ์ เต้บำรุง ได้คัดค้านว่าอยู่ในหมู่ที่ 2 ต.ทับปริก นอกจากนั้นก็มีประเด็นที่ชาวบ้านเดือดร้อนจากการระเบิด ทั้งฝุ่น และเศษหิน ที่ปลิวมาตกใส่บ้านและการระเบิดไม่ตรงต่อเวลา จนมีการร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

ที่สำคัญคือ การเป็นพื้นที่แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน ที่กรมศิลปากรได้มีหนังสือยืนยันเพิ่มเติมที่ วธ 0429/10 ลงวันที่ 6 มกราคม 2552 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยได้รับ และหนังสือที่ วธ 0401/502 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 แจ้งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่ามีความสำคัญมากในทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และหากย้อนกลับไปที่หนังสือที่ ศธ 0719.19/423 ลงวันที่ 9 เมษายน 2539 ก็ได้ยืนยัน โดยการลงสำรวจและอ้างอิงจากหลักฐานการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และสภาพเขาหินปูนที่วัดค่าได้มากกว่า 43,000 ปี

และยืนยันว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้มีเอกสารแนบเพิ่มเติมจากจดหมายการสำรวจขุดค้นของมหาวิทยาลัย บราวส์ สหรัฐอเมริกา โดย ศาสตราจารย์ ดักลาส และ ดร.วรรณี แอนเดอร์สัน เมื่อปี 2522 และปี 2528 จนปัจจุบันนี้มีการฟ้องร้องเรื่องอยู่ในชั้นศาลแล้วด้วย

ข้อมูลจาก..ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป