วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปิดฉากประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ครั้งที่ 17 ที่กระบี่


ปิดฉากประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 ตามแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ดันยุทธศาสตร์การพัฒนา IMT-GT 5 ด้าน เป็นกรอบแนวทางนำของการดำเนินการกรอบความร่วมมือในระยะต่อไป


นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังเสร็จสิ้น การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT ในระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยมี H.E. Tan Sri Nor Mohamed Yakcop (ตัน ซรี นอร์ โมฮาเหม็ด ยัคขอบ) และผู้แทนรัฐมนตรีอินโดนีเซีย Dr. Raldi Hendro Koestoer (ดร.รัลดี เฮนโดร คูสตูร์) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ แทนรัฐมนตรีกระทรวงประสานกิจการเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรี ว่า

การประชุมมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ภาคีการพัฒนาทั้ง 3 ประเทศได้แลกเปลี่ยนความเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาในกรอบความร่วมมือตามแผนงาน IMT-GT ตามแผนที่นำทางปี 2550-2554 ในส่วนสุดท้าย รวมทั้งการขับเคลื่อนโครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค

โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากธนาคารพัฒนาเอเชียในการทบทวนกลางรอบเพื่อหาจุดมุ่งเน้นของกรอบความร่วมมือที่ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะจากผลของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างโอกาสการพัฒนาในอนุภูมิภาคให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปกับทั้งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน โดยที่ผลการประชุมในครั้งนี้จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมระดับสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 5 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อพิจารณาให้ความสนับสนุนและชี้แนะในเชิงนโยบาย และใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางของการดำเนินงานด้านความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายสาทิตย์กล่าวอีกว่า สำหรับผลการประชุมในระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกันในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะผลการทบทวนกลางรอบ ดังนี้ 1.แสดงความมุ่งมั่นต่อความร่วมมือภายใต้กรอบ IMT-GT และยึดมั่นในวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งพัฒนาให้อนุภูมิภาค IMT-GT เป็นดินแดนแห่งความสงบสุข ร่มเย็น และมีความเจริญและเชื่อมโยงกันอย่างยั่งยืน

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนา IMT-GT ทั้ง 5 ด้าน (ตามร่างข้อเสนอการทบทวนกลางรอบ ตามกรอบแผนงาน IMT-GT) ซึ่งยังคงมีความเหมาะสมและเห็นควรใช้เป็นกรอบแนวทางนำของการดำเนินการกรอบความร่วมมือในระยะต่อไป ได้แก่ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน, เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมโยงแนวพื้นที่ต่างๆ, ส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยว, ส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล, เสริมสร้างด้านทรัพยากรมนุษย์,

3.ตระหนักถึงความสำคัญของการประชุมมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือในกรอบ IMT-GT และเห็นว่าการดำเนินการตามแผนที่นำทางและแผนปฏิบัติการของ IMT-GT จะมีสัมฤทธิ์ผลได้โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากภาคีการพัฒนาในพื้นที่ระดับท้องถิ่น จังหวัด/รัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนต้องมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กรระดับต่างๆ ในกรอบ IMT-GT โดยที่การปรับปรุงด้านรูปแบบกระบวนการในการดำเนินงานเพื่อผลักดันแผนงานโครงการภายใต้ IMT-GT ให้สอดรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากจังหวัด,รัฐ ในพื้นที่ความร่วมมือของทั้งสามประเทศ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาภายใต้กรอบ IMT-GT ต่อไป

4.ตระหนักถึงความสำคัญการพัฒนาแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค IMT-GT โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผ่านข้ามแดน เพื่อประโยชน์ในการเดินทางขนส่ง และการไหลเวียนของสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้รับรองการปรับสถานะรายการโครงการ ที่มีลำดับความสำคัญสูงในด้านการเชื่อมโยงอนุภูมิภาค รวมเป็นโครงการจำนวนทั้งสิ้น 10 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5.รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนงานโครงการโดยคณะทำงานแต่ละด้าน และผลการพิจารณาทบทวนโครงการใน Action Plan Matrix ตลอดจนเห็นชอบการปรับรูปแบบการดำเนินงาน โดยเฉพาะให้มีการจัดตั้งกลไกการดำเนินงานขององค์กร และการจัดทำกรอบการติดตามประเมินผลการดำเนินการเพื่อประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม

6.สนับสนุนข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจ IMT-GT ในการผลักดันข้อเสนอโครงการที่สำคัญ เช่น การก่อตั้ง IMT-GT Center และ IMT-GT Harbor City

7. ตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับญี่ปุ่นและ ERIA ในฐานะภาคีการพัฒนา ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินงาน/โครงการที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค IMT-GT ให้มีความเจริญมั่นคง และเป็นกรอบการพัฒนาหลักที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนวิสัยทัศน์ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ขอบคุณ...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป